เรียนฟรีแบบไทย เรียนฟรีแบบเม็กซิโก
โดย prasso ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 22 ม.ค. 2553, 16:09.
เรียนฟรีแบบไทย เรียนฟรีแบบเม็กซิโก
มีใครคนหนึ่งเคยกล่าวแบบประชดประชันว่าผู้ปกครองประเทศส่วนมากนั้นไม่อยากให้ประชาชนมีการศึกษาเพราะว่าปกครองยาก ซึ่งก็ไม่ทราบว่าที่กล่าวถึงนั้นเป็นผู้ปกครองประเทศไหน ยุคไหนกันที่คิดอย่างนี้ ฟังแล้วช่างเป็นความคิดที่คับแคบล้าสมัยสิ้นดี เพราะแม้เมื่ออ่านประวัติศาสตร์ของเอเชียอาคเนย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในยุคศตวรรษที่ 18 ยังพบว่าเมื่อชาติตะวันตกมาล่าอาณานิคมในเอเซียนั้นได้ตักตวงผลประโยชน์ที่เป็นทรัพยากรต่างๆไปก็จริง ในขณะเดียวกันก็พัฒนาสาธารณูปโภคและการศึกษาของคนในเอเซียให้ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย
เพราะเขามีความคิดว่าเมื่อคนมีการศึกษามากขึ้นก็มีคุณภาพขึ้นและสามารถผลิตได้มากขึ้น อย่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ได้อานิสงค์จากระบบการศึกษาที่อังกฤษวางไว้ เพราะในความคิดของชาติที่เจริญแล้ว จะมองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแบบเท่าเทียมกัน และตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพและมีสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกันที่จะได้รับการพัฒนา
พื้นฐานการพัฒนาก็มีสองแบบ คือการพัฒนาแบบอยู่ในกระบวนการของการศึกษา ซึ่งทุกชาติมีเหมือนกันหมดคือใช้ระบบโรงเรียน นอกจากดินแดนป่าเถื่อน กับการพัฒนานอกกระบวนการ เช่นการศึกษาเอง (informal education) หรือการศึกษาในการทำงาน (on the job training)
ในเรื่องของกระบวนการศึกษาระบบโรงเรียนประเทศที่กำลังพัฒนาก็มักจะดูแบบอย่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และนำหลักการ หลักปฏิบัติต่างๆมาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมนั้นๆ
การศึกษาของไทยเริ่มแรกเป็นแบบการศึกษาที่วัด กุลบุตรกุลธิดามีพระเป็นครูสอน ต่อมาในรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการตั้งโรงเรียนขึ้น การศึกษากระจุกตัวอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง ในรัชกาลนี้ได้ตั้งกระทรวงธรรมการ มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาให้คำปรึกษา แต่ไม่ได้มีการพัฒนามากนัก เนื่องจากประเทศไทยต้องพัฒนาด้านอื่นอีกหลายด้าน เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่เมืองไทยไม่ได้เคยเป็นเมืองขึ้น แม้มีข้อดีคือความเป็นเอกราชและภาคภูมิใจ แต่ก็ทำให้ไทยไม่มีพี่เลี้ยงที่ช่วยวางรากฐานการศึกษาให้
กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้พัฒนาการศึกษาไทยตลอดมา มีการส่งข้าราชการไปดูงานการศึกษาต่างประเทศและนำความคิดรูปแบบต่างๆมาปรับใช้ให้การศึกษาไทยก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังเป็นก้าวย่างที่ช้า และตามหลังประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอยู่หลายสิบปี การจัดสรรงบประมาณเป็นการจัดสรรเข้าสู่กระทรวงศึกษาและส่งต่อให้โรงเรียนไปพัฒนาการศึกษา
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจะเกิดขึ้นต้องมาจากภาคการเมือง หมายถึงนโยบายของรัฐบาลแต่ละรัฐบาล
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิสิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบายเรื่องการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปีมาใช้ หลังจากมีการประชุมหารือกับผู้บริหารองค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการ ในสาระสำคัญคือรัฐบาลจะโอนงบให้โรงเรียน ให้ผู้ปกครองไปเบิกมาซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนเอง การประกาศนโยบายนี้จะนำไปสู่ก้าวกระโดดของการศึกษาไทย คนที่เข้าใจเรื่องนี้ดีคือผู้เกี่ยวข้องโดยตรงคือรัฐบาล ครูอาจารย์ในสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน
ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีลูกวัยเรียน นักศึกษาที่เรียนจบทำงานแล้ว หรือคนที่อยู่ในอาชีพอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาจะไม่รู้ลึกซึ้งว่านี่คือก้าวกระโดดที่มีความสำคัญยิ่งของการพัฒนาประเทศไทย
ที่มาที่ไปของการจ่ายเงินให้กับผู้ปกครอง แนวคิดนี้มาจากไหน และทำไมจึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดด
ผู้เขียนลองเข้าไปหาข้อมูลของประเทศอื่นๆดูเพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เข้าใจนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น ก็ได้พบข้อมูลของประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีโครงการที่ใช้ชื่อว่า Oportunidades
เป็นโครงการที่เม็กซิโกเริ่มเมื่อปี 2543 โดยเนื้อหาหลักเป็นโครงการที่รัฐบาลจ่ายเงินสดๆให้กับครอบครัวเพื่อแลกกับการให้เด็กเข้ามาเรียนหนังสือ รวมทั้งเข้ามาตรวจสุขภาพ และได้รับอาหารที่มีโภชนาการ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการยอมรับว่าสามารถลดความยากจน ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น และมีการศึกษาดีขึ้นในเขตที่รัฐทำโครงการนี้
สาระสำคัญของโครงการคือการให้ CCT Conditional Cash Transfer หมายถึงการแจกเงินโดยมีเงื่อนไข เงื่อนไขที่ว่าคือการส่งลูกมาเข้าโรงเรียน และมารับการดูแลสุขภาพแบบป้องกันไม่ใช่แบบเป็นแล้วค่อยมารักษา (preventative health care) คนที่ได้รับเงินคือ “แม่” ซึ่งเป็นคนดูแลสุขภาพลูกโดยตรง (สงสัยกลัวพ่อเอาไปกินเหล้า) เงินนี้ส่งจากรัฐบาลถึงครอบครัวโดยตรงเพื่อป้องกันการคอรับชั่นโดยข้าราชการ มีระบบการตรวจสอบและจัดทำสถิติเพื่อวัดประสิทธิผลของโครงการ และมีระบบการคัดเลือกผู้ได้รับประโยชน์อย่างเข้มข้นโดยดูจากสภาพภูมิศาสตร์และสังคมเศรษฐกิจ
โปรแกรม Oportunidades ของเม็กซิโกได้กลายเป็นแบบอย่างสำหรับหลายประเทศ และที่น่าทึ่งคือประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ๆมีจุดบอดที่ล้าหลังก็นำไปใช้ เช่นในเมืองนิวยอร์คซิตี้ ได้จัดทำโครงการ Opportunity NYC ส่วนในนิคารากัวก็มีโครงการ Social Protection Network ในประเทศอื่นๆ ก็มีการนำรูปแบบ cash transfer หรือมอบเงินให้ครอบครัวโดยตรง ไปใช้ รวมทั้งประเทศบราซิล ฮอนดูรัส จาไมก้า ชิลี มาลาวี และแซมเบีย
การที่รู้เรื่องของประเทศอื่นเขาก็ทำให้เข้าใจโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของรัฐบาลไทยได้มากขึ้น เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจึงเปลี่ยนนโยบายจากส่งเงินให้กระทรวงและโรงเรียนไปเป็นส่งเงินถึงมือผู้ปกครองโดยตรงให้จัดซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน ทั้งนี้เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพกว่า เนื่องจากเด็กเป็นจำนวนมากไม่มาโรงเรียนเพราะไม่มีเสื้อผ้าใส่ พ่อแม่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนให้ และไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม
วิธีนี้ยังเป็นวิธีป้องกันคอรัปชั่น เพราะโรงเรียนให้เงินสดผู้ปกครอง และผู้ปกครองก็เอาใบเสร็จมาแสดงเป็นหลักฐานว่าซื้อจริง
ความที่ผู้เขียนสนใจก็ได้พูดคุยกับอาจารย์ระดับผู้อำนวยการโรงเรียนสองสามแห่ง ซึ่งเล่าว่าเงินที่รัฐบาลจัดให้ในส่วนซื้อเสื้อผ้ากับอุปกรณ์การเรียนได้มอบให้ผู้ปกครองโดยตรง ส่วนค่าพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ได้แก่การเข้าค่าย ทัศนศึกษา การบริการด้านไอที ทางรัฐบาลได้จ่ายให้โรงเรียน โรงเรียนจะนำไปจัดกิจกรรมให้นักเรียนฟรี (โดยที่แต่เดิมก่อนมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี นักเรียนต้องจ่ายค่ากิจกรรมเหล่านี้) การควบคุมงบประมาณส่วนนี้จะอยู่ภายใต้กรรมการร่วม 4 ฝ่ายคือตัวแทนครู ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนชุมชน และตัวแทนนักเรียน วิธีนี้ก็มีความรัดกุมช่วยป้องกันการคอรัปชั่นได้
การพูดคุยกับอาจารย์ฝ่ายบริหารในโรงเรียนชนบทห่างไกลและในตัวเมืองยังทำให้ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความความเอาใจใส่ทุ่มเทของครู ความพึงพอใจ และการแก้ปัญหาที่ตรงจุดของรัฐบาล ครูท่านหนึ่งบอกว่า “เมื่อปัจจัยพื้นฐานดีแล้ว ก็ต่อยอดทางอื่นได้” หมายถึงครูไม่ต้องกังวลว่านักเรียนจะทิ้งโรงเรียนกลางคัน ผู้ปกครองเอาตัวนักเรียนออกไปทำงาน ต้องไปตามกลับมาเรียน หรือไม่บางแห่งครูถึงขนาดต้องจัดผ้าป่าเอาเงินมาช่วยนักเรียน ครูก็มีเวลาทุ่มเทกับการพัฒนาการสอนได้เต็มที่
อาจารย์ยังบอกอีกว่านักเรียนทุกคนที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนฟรี 15 ปีนี้จะได้เป็นพลังสำคัญของการพัฒนาทุกภาคส่วนของประเทศต่อไปในวันข้างหน้า และคิดว่าเมื่อ 15 ปีผ่านไปฐานของเด็กไทยที่ได้รับอานิสงค์จากโครงการจะกว้างใหญ่ไพศาล
ส่วนในขณะนี้ทั้งครูทั้งนักเรียนมีความสุข “ขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยให้ทั้งนักเรียนและครูมีสมาธิขึ้น มีความสุขขึ้น”